ร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางภาษาของนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน CEFR ตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ”
วันที่ 11 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 นายธีระศักดิ์ พลนาคู ผอ.สพป.ชัยภูมิ เขต 1 มอบหมายให้นายวรากรณ์ งามศรีนวสกุลและนางรพีพรรณ ตุงชีพ ศึกษานิเทศก์ สพป.ชัยภูมิ เขต 1 และครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ระดับชั้น ป.5 และชั้น ป. 6 ของโรงเรียนคุณภาพในสังกัด สพป.ชัยภูมิ เขต 1 จำนวน 5 โรงเรียน (บ้านโคกก่องดอนทองวิทยาอนุบาลบ้านเขว้า บ้านเจาทอง บ้านท่าหินโงม อนุบาลชุมชนหนองบัวแดง) ร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางภาษาของนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน CEFR สำหรับโรงเรียนคุณภาพ ตามนโยบาย “ ๑ อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ผ่านระบบ Zoom Meeting
โดยมีนายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมฯ นางอาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สพฐ. เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสถาบันภาษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะดำเนินงานโครงการ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนคุณภาพ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting.
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศรายชื่อโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ทาง สพฐ. จึงดำเนินโครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางภาษาของนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน CEFR ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สอดรับกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพและนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับผลสัมฤทธิ์ภาษาอังกฤษของนักเรียนสู่ระดับสากลต่อไป.
โดยการประชุมฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ตามกรอบ CEFR สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ ปีที่ 6 โดยใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์ม และหลักการของเกม (Gamification) เพื่อพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษาตามหลักสูตรฯ ให้สามารถจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมความสามารถทางภาษาของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนคุณภาพ จำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 คน โดยมีการจัดสอบ Proficiency Test ตามกรอบ CEFR 4 ทักษะระดับ A1 ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนคุณภาพ จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พร้อมทั้งคัดเลือกต้นแบบ (Best Practice) การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามกรอบ CEFR ไม่น้อยกว่า 18 ต้นแบบ โดยใช้เขตตรวจราชการเป็นฐาน (Cluster) ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จะร่วมกับ สพฐ. ติดตามผลการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริม ความสามารถทางภาษาของนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน CEFR เพื่อให้เป็นไปตาม นโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) ของ สพฐ. ด้านนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ สนับสนุนและพัฒนาโรงเรียนคุณภาพที่สอดคล้องกับบริบท และความต้องการเพื่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และด้านการเรียนรู้ ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) พัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ผู้เรียนทุกที่ทุกเวลา…..นายวรากรณ์ งามศรีนวสกุล : ภาพ/งานประชาสัมพันธ์ : รายงาน